ศักยภาพการทดแทนประชากรปะการังในแนวปะการังจังหวัดระยองหลังจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาว ปีพ.ศ. 2553 Authors นรินทร์รัตน์ คงจันทร์ตรี Abstract บทคัดย่อ เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งต่อแนวปะการังในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ระดับความรุนแรงของการฟอกขาวและสถานภาพของแนวปะการังหลังจากการฟอกขาวจะส่งผลต่อความสามารถและระยะเวลาที่ใช้ในฟื้นตัวตามธรรมชาติของแนวปะการัง ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินศักยภาพการฟื้นตัวตามธรรมชาติของปะการังในจังหวัดระยอง โดยสำรวจ 1)สถานภาพทรัพยากรปัจจุบันของแนวปะการัง 2) การทดแทนประชากรในพื้นที่โดยพิจารณาจากชนิดและความหนาแน่นของการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังบนแผ่นกระเบื้อง และ 3)การเจริญเติบโตของปะการังวัยอ่อนที่รอดตาย ผลการศึกษาพบว่าแนวปะการังในจังหวัดระยองส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเสียหาย มีปะการังโขด (Porites spp.) วงศ์ Poritidae, ปะการังก้อนในวงศ์ Faviidae และ Mussidae เป็นชนิดเด่น การลงเกาะของตัวอ่อนในธรรมชาติพบตัวอ่อนปะการังในวงศ์ Mussidae (48.4%) และ Faviidae (19.4 %) ลงเกาะปีละสองครั้งในฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-มีนาคม) และต้นฤดูหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน) และพบตัวอ่อนปะการังโขด (Porites spp., 29%) ลงเกาะได้ตลอดทั้งปี สำหรับปะการังวัยอ่อนที่รอดตายจากการฟอกขาวพบปะการังเขากวาง (Acropora spp.) มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด ส่วนปะการังสมองร่องใหญ่ (Symphyllia spp.) มีค่ารองลงมาคำสำคัญ : ปะการังฟอกขาว การฟื้นตัว ตัวอ่อนปะการัง จังหวัดระยอง Downloads PDF Published 2015-08-26 Issue Vol. 18 No. 2 (2013) Section Research Article