ผลของ BA และ NAA ต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าเอื้องผึ้งในสภาพปลอดเชื้อ Authors สุมิตรา สุปินราช สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง Abstract เอื้องผึ้ง (Dendrobium lindleyi Steud.) เป็นกล้วยไม้สกุลหวายที่ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน มีดอกสีเหลืองสดใส มีความสวยงามเหมาะสำหรับเป็นไม้กระถาง การทดลองนี้ทำการศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าเอื้องผึ้งในสภาพปลอดเชื้อ โดยนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดในอาหารสูตร Vacin and Went (VW) อายุ 8 สัปดาห์ มาเลี้ยงในอาหารสูตร Murashige and Skoog (MS) เติมสารควบคุมการเติบโต BA ที่ระดับความเข้มข้น 1, 2 และ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA ที่ระดับความเข้มข้น 0, 0.5 และ 1 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ ภายใต้สภาพอุณหภูมิ 25+3 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80% และความเข้มแสง 3,000 ลักซ์ พบว่า อาหารสูตร MS ที่เติม BA 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร มีผลทำให้จำนวนราก จำนวนใบ จำนวนหน่อ และน้ำหนักสดเฉลี่ยต่อต้นสูงสุดคือ 20.4 ราก 20.7 ใบ 1.37 หน่อ และ 1 กรัม ตามลำดับ ขณะที่อาหารสูตร MS ที่เติม BA 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้ความสูงหน่อเฉลี่ยมากสุดคือ 2.11 เซนติเมตร ส่วนอาหารสูตร MS ที่เติม BA 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้ความยาวใบเฉลี่ยสูงสุดคือ 1.45 เซนติเมตร และอาหารสูตร MS ที่เติม BA 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ NAA 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้ความยาวรากเฉลี่ยสูงสุดต่อรากคือ 2.08 เซนติเมตร คำสำคัญ: เอื้องผึ้ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นกล้า บีเอ เอ็นเอเอ Downloads PDF Published 2014-11-06 Issue Vol. 19 No. 2 (2014) Section Research Article