การสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเมล็ดหมาก (Areca catechu L.) ด้วยวิธีการสกัดของแข็งด้วยของเหลวโดยไมโครเวฟ Authors ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ Abstract บทคัดย่อ งานวิจัยนี้ศึกษาการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากผลหมาก (Areca catechu L.) โดยใช้ไมโครเวฟช่วยในการสกัดด้วยตัวละลายที่มีขั้วต่างกัน 6 ชนิดคือ เฮกเซน เอทิลอะซิเตท อะซีโตน เอทานอล 95% เอทานอล 50% และน้ำ นำสารสกัดที่ได้มาวิเคราะห์ด้วย HPLC และปริมาณสารประกอบฟีนอลิก (EPC) และฟลาโวนอยด์ (EFC) และวิเคราะห์ความสามารถการกวาดอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH และความสามารถในการให้อิเล็กตรอนด้วยวิธี FRAP พบว่าสารสกัดอะซีโตนให้ปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงสุด โดย EPC มีปริมาณ 733.11 มก. สมมูลของกรดแกลลิกต่อกรัมของสารสกัดแห้ง (mg GAE/g extract) และ EFC ปริมาณ 113.42 มก. สมมูลของเคอเซตินต่อกรัมของสารสกัดแห้ง (mg QE/g extract) สารสกัดจากอะซีโตนยังให้ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดเช่นกัน โดยพบว่ามีความสามารถเทียบเท่ากับ 184.36 และ 126.15 มก. ทรอลอกซ์ต่อกรัมของสารสกัดแห้ง (mg TEAC/g extract) จากการทดสอบด้วยวิธี DPPH และ FRAP ตามลำดับ สารสกัดเฮกเซนที่ได้จากขั้นตอนแรกและ สารสกัดน้ำจากขั้นตอนสุดท้ายให้ปริมาณสารและฤทธิ์ทางชีวภาพต่ำสุด โครมาโตแกรมจาก HPLC แสดงให้เห็นว่าสารประกอบที่มีคาเทชิน เป็นส่วนประกอบหลักในสารสกัดหมาก การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าอะซีโตนเป็นสารละลายที่เหมาะสมในการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากผลหมาก คำสำคัญ : สารต้านอนุมูลอิสระ ผลหมาก การสกัดเป็นลำดับขั้น HPLC การสกัดของแข็งด้วยของเหลว Downloads PDF Published 2015-08-26 Issue Vol. 18 No. 2 (2013) Section Research Article