พลาสติกเทอร์โมเซตชีวภาพเตรียมจากน้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตต-อิพ็อกซิไดซ์ พอลิเมอร์ไรซ์ร่วมกับพอลิเมทิวเมทาคริเลตโดยแสงยูวี

Authors

  • วราภรณ์ ตันรัตนกุล

Abstract

บทคัดย่อพอลิเมอร์ที่ได้จากแหล่งปลูกทดแทนได้เรียกว่าพลาสติกชีวภาพ โดยพลาสติกเหล่านี้อาจจะมีทั้งชนิดย่อยสลายทางชีวภาพได้และไม่ได้ การสังเคราะห์พอลิเมอร์จากปิโตรเลียมมีการสร้างก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ในทางตรงกันข้าม การผลิตพลาสติกชีวภาพมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า พลาสติกชีวภาพที่ได้จากน้ำมันพืชมีการศึกษามานานกว่าสิบปีแล้ว วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือการเตรียมและตรวจสอบสมบัติเชิงกลของพลาสติกชีวภาพ ด้วยการสังเคราะห์พอลิเมอร์ร่วมระหว่างน้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตตอิพ็อกซิไดซ์ และพอลิเมทิวเมทาคริเลต ด้วยการฉายแสงยูวีเป็นเวลา 7 นาที โดยที่น้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตตอิพ็อกซิไดซ์ เมทิวเมทาคริเลตมอนอเมอร์ และ 2% ของสารริเริ่มถูกผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนเทลงบนเบ้ากระจกเพื่อนำไปฉายแสง น้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตตอิพ็อกซิไดซ์ที่มีปริมาณอะคริเลชันเท่ากับ 52 โมล% สังเคราะห์จากน้ำมันถั่วอิพ็อกซิไดซ์ทางการค้าที่มีปริมาณอิพ็อกซิเดชันเท่ากับ 100 โมล% ผสมกับกรดอะคริลิค อิทธิพลของอัตราส่วนระหว่างน้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตตอิพ็อกซิไดซ์และเมทิวเมทาคริเลต (30-70% โดยน้ำหนักของเมทิวเมทาคริเลต) ต่อสมบัติความทนต่อแรงดึงถูกตรวจสอบ การเกิดเป็นพอลิเมอร์ร่วม ถูกตรวจสอบด้วยเทคนิคอินฟราเรดสเปคโตรสโกปี การเกิดเป็นเทอร์โมเซตยืนยันด้วยการทดสอบการบวมในตัวทำละลาย ค่ามอดุลัสของพอลิเมอร์ร่วมชีวภาพ  เพิ่มขึ้นตามปริมาณเมทิวเมทาคริเลตที่เพิ่มขึ้น ความเค้น ณ จุดขาดของพอลิเมอร์ร่วมชีวภาพ มีค่าสูงกว่าพลาสติกชีวภาพจากน้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตตอิพ็อกซิไดซ์  และมีค่าสูงสุดเมื่อมีปริมาณเมทิวเมทาคริเลตเท่ากับ 40% ระยะยืด ณ จุดขาดมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อมีปริมาณเมทิวเมทาคริเลตเท่ากับ 30-40% และจะมีค่าลดลงเมื่อมีปริมาณเมทิวเมทาคริเลตเพิ่มขึ้น ความต้านทานต่อการฉีกขาดมีแนวโน้มเช่นเดียวกัน พลาสติกชีวภาพนี้ถูกวิเคราะห์ด้วยเทคนิคสแกนนิงคาลอริเมตตรี เทคนิคกลอุณหพลศาสตร์ และเทคนิคเทอร์โมกราวิเมตตรี ผลการทดลองพบว่าพลาสติกชีวภาพมีอุณหภูมิแทรนซิชันค่าเดียว เป็นการยืนยันการไม่เกิดโฮโมพอลิเมอร์ของพอลิเมทิวเมทาคริเลต พลาสติกร่วมชีวภาพมีความคงทนต่อความร้อนสูงกว่าพลาสติกชีวภาพจากน้ำมันถั่วเหลืองอะคริเลตเตตอิพ็อกซิไดซ์  คำสำคัญ อะคริเลชัน    พลาสติกชีวภาพ   พอลิเมทิวเมทาคริเลต   น้ำมันถั่วเหลือง

Downloads

Published

2015-08-26

Issue

Section

Research Article