การตรวจติดตามคุณภาพน้ำและชุมชนแพลงก์ตอนพืชในสระเก็บน้ำพระราม 9 จ.ปทุมธานี ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.2554

Authors

  • วลีวรรณ แฉ่งประเสริฐ

Abstract

บทคัดย่อ          การตรวจติดตามคุณภาพน้ำและชุมชนแพลงก์ตอนพืชในสระเก็บน้ำพระราม 9 จ.ปทุมธานี ซึ่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2554 โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำและแพลงก์ตอนพืชทุกเดือนหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2554 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555 ในบริเวณ 2 จุดเก็บตัวอย่าง จากข้อมูลค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ไนเตรท-ไนโตรเจน แอมโมเนีย-ไนโตรเจน ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์ม สามารถจัดคุณภาพน้ำทั้ง 2 จุดเก็บตัวอย่างให้อยู่ในประเภท 2-3 โดยสามารถนำน้ำไปอุปโภคและบริโภคได้ทั้งที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน ชุมชนแพลงก์ตอนพืชที่จุดเก็บตัวอย่างที่ 1 พบแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด 7 ดิวิชัน 81 สปีชีส์ ส่วนจุดเก็บตัวอย่างที่ 2 พบทั้งหมด 7 ดิวิชัน 79 สปีชีส์ โดยพบว่า Cylindrospermopsis raciborskii (Woloszynska) Seenayya & Subba Raju, Pseudanabaena limnetica (Lemmermann) Komárek และ Trachelomonas volvocina (Ehrenberg) Ehrenberg มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณฟอสเฟตที่ละลายในน้ำ และเมื่อประเมินคุณภาพน้ำตามระดับสารอาหารร่วมกับแพลงก์ตอนพืชที่เป็นชนิดเด่น พบว่าคุณภาพน้ำในทั้ง 2 จุดเก็บตัวอย่าง สามารถจัดอยู่ในระดับสารอาหารปานกลางได้ โดยพบ Peridiniopsis cunningtonii Lemmermann และ Trachelomonas volvocina (Ehrenberg) Ehrenberg เป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดเด่น ยกเว้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2555 พบว่า C. raciborskii, P. limnetica และ P. cunningtonii เป็นแพลงก์ตอนพืชชนิดเด่นที่สามารถบ่งชี้คุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับสารอาหารปานกลางถึงระดับสารอาหารสูงได้ คำสำคัญ : ชุมชนแพลงก์ตอนพืช    ระดับสารอาหารปานกลาง    สระเก็บน้ำพระราม 9

Downloads

Published

2015-08-25

Issue

Section

Research Article