การพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังแข็งในจังหวัดระยองหลังเหตุการณ์ปะการัง ฟอกขาว ปีพ.ศ.2553 และน้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ.2554

Authors

  • นรินทร์รัตน์ คงจันทร์ตรี Department of Aquatic Science Faculty of Science Burapha University Chonburi
  • อัญชลี จันทร์คง

Abstract

แนวปะการังบริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจากทั้งเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 และกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง จากการเฝ้าติดตามรูปแบบการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังในบริเวณหมู่เกาะเสม็ดและหมู่เกาะมันจังหวัดระยองต่อเนื่องกันเป็นเวลาหนึ่งปี  พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นรอบการสืบพันธุ์ฤดูหลักรอบแรกหลังเหตุการณ์ปะการังฟอกขาว ปะการังส่วนใหญ่ไม่มี                การพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ทั้งในบริเวณหมู่เกาะเสม็ดและหมู่เกาะมัน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.9 และ 89.3 ตามลำดับ พบปะการังที่มีเซลล์สืบพันธุ์สมบูรณ์เพียงร้อยละ 17.9 และ 10.7 ตามลำดับ แต่ในฤดูร้อนของรอบการสืบพันธุ์ที่สอง (กุมภาพันธ์ 2555) พบปะการังมีการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์สมบูรณ์สูงขึ้นเป็นร้อยละ 29.8 และ 34.7 ตามลำดับ การศึกษานี้ยังเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทยที่พบปะการังวงศ์ Faviidae และ Mussidae มีเซลล์สืบพันธุ์สมบูรณ์ในฤดูรอง(ตุลาคม 2554) สูงถึงร้อยละ 39.5 และ 45.3 สำหรับการตอบสนองของปะการังแต่ละชนิดต่อการฟอกขาว พบว่าปะการัง Goniastrea spp. เป็นสกุลที่ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวน้อยกว่าปะการังสกุลอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ                  ส่วนปะการังที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดคือ ปะการัง Favia spp. และ Platygyra spp. และยังพบความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลาปล่อยเซลล์สืบพันธุ์กับอุณหภูมิของน้ำทะเลในรอบปีซึ่งปะการังจะมีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงที่อุณหภูมิ               น้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี และช่วงที่ปริมาณน้ำฝนลดลง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน คำสำคัญ  :  ปะการัง   การสืบพันธุ์   การฟอกขาว   สิ่งแวดล้อม   จังหวัดระยอง         

Downloads

Published

2015-08-11

Issue

Section

Research Article